ได้ยินมาว่า ในเมืองสาวัตถีมีเศรษฐีคนหนึ่ง เป็นที่ล่ำลือกันไปทั่วเมืองว่า นายอทินนปุพพกะ ซึ่งชื่อนี้เกิดจากการที่ไม่เคยให้ข้าวของใครเลยจนกลายเป็นนิสัยจึงได้นามแปลเป็นภาษาไทยว่า เจ้าขี้เหนียวหลวง เพราะสาเหตุไม่เคยเสียสละ ไม่เคยแบ่งปันให้ใครเลยนั่นเอง คนโดยปกติมีลูกแล้วก็ต้องเห่อและแสดงความรักโดยให้ข้าวของเครื่องใช้ เครื่องประดับ ตรงกันข้าวกับเศรษฐีคนนี้ เขามีลูกชายที่น่ารักน่าชัง แต่ก็ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าให้ข้าวของโดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องประดับ เช่น ทอง สร้อย เป็นต้น
ที่เป็นเช่นนี้เพราะเขากลัวว่า ถ้าให้ช่างทำทองขึ้นรูปทำเป็นทองรูปพรรณแล้ว ก็ต้องเสียค่ากำเหน็ด จะมากหรือน้อยก็ได้ขึ้นว่าเสีย อย่ากระนั้นเลยเขาก็เลยลงมือเอาทองมาทำเป็นแท่งเล็กๆเกลี้ยงๆ โดยไม่ต้องแกะสลักอะไรให้สิ้นเปลืองด้วยตนเอง
เมื่อลูกชายไปไหนมาไหน ผู้คนเห็นทองเกลี้ยงที่พ่อทำให้เล็กๆ ชาวบ้านจึงเรียกเด็กคนนั้นว่า “มัฏฐกุณฑลี” หรือ นายทองเกลี้ยง ที่โชคร้ายมากกว่าทองที่พ่อให้ก็คือ เมื่ออายุล่วงเข้า 16 ปี มัฏฐกุณฑลีก็เป็นโรคชนิดหนึ่ง ทำให้ร่างการของเขาผอม ตัวเหลือง ไร้เรียวแรง จำต้องนอนอยู่กับที่ไปไหนไม่ได้ เคราะห์ซ้ำเข้าไปอีกคือ เมื่อแม่ไปบอกแจ้งอาการป่วยของลูก นายอทินนปุพพกะแทนที่จะคิดว่า จะรักษาลูกอย่างไรดี หมอคนไหนเก่ง ยาขนานไหนจะถูกกับโรคบ้าง เขากลับคิดว่า ถ้าจ้างหมอมารักษาที่บ้านแล้วก็ต้องจ่ายสตางค์ เสียเงินเสียทอง มีวิธีการอื่นไหมที่จะทำให้ไม่ต้องเสียสตางค์ รักษาเองได้ เขาจึงไปหาปรึกษาหมอและเอายามารักษาเอง
จะด้วยหมอวิเคราะห์โรคผิดหรือรักษาผิดวิธีก็สุดแท้แต่ โรคกลับกำเริบหนักขึ้นกว่าเดิม เกินกว่าที่จะรักษาเยียวยา เศรษฐีเมื่อรู้ว่าใกล้ถึงมรณกาลแล้วจึงให้คนยกมัฏฐกุณฑลีไปไว้นอกชานบ้าน สาเหตุเพราะว่ากลัวคนมาเยี่ยมหรือมาร่วมงานศพ เกิดเห็นทรัพย์สินในบ้านเข้าทำให้เกิดความอยากและขอ ก็จะเป็นเหตุทำให้เสียทรัพย์สินได้ จึงป้องกันไว้ก่อนโดยให้เอาลูกไปนอกชาน
ในความโชคร้ายก็มีความโชคดีนั้นก็คือ ขณะที่มัฏฐกุณฑลีนอนอยู่ที่ชานบ้าน หันหน้าเข้าไปข้างใน พระพุทธเจ้าทราบอุปนิสัยของเขาถ้าได้เห็นพระองค์จะทำให้เกิดความเลื่อมใสเมื่อตายไปแล้วจะไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์
เช้าวันหนึ่งพระองค์จึงเสด็จไปบ้านหลังนั้นพร้อมกับเปล่งฉัพพัณณรังสี (แสงสว่าง 6 ชนิด) เมื่อมัฏฐกุณฑลีเห็นแสงนั่นแล้วนึกประหลาดใจ กัดฟันฝืนทนตระแครงข้างเห็นแสงสว่างนั้นเกิดความเลื่อมใสอย่างยิ่ง จิตใสสว่างไสว พาลให้คิดไปว่า ตอนสุขภาพดีแข็งแรงดีมีพ่อแม่ก็เหมือนไม่มี ไม่เคยพาไปหาพระพุทธเจ้า ไม่เคยพาทำทาน ไม่เคยพาฝึกจิตใจเป็นเหตุให้ไม่ได้ฟังธรรมเสีย ขณะที่จิตศรัทธาในพระพุทธเจ้าอย่างยิ่งนั้นจิตดวงสุดท้ายก็ดับลง เพราะความเลื่อมใสนี้เองจึงทำให้ไปเกิดบนสวรรค์
ในวันเผาศพมัฏฐกุณฑลี เทวดาลูกชายก็มาร่วมงานศพด้วยและถามพ่อว่า ท่านเศร้าโศกเสียใจปิ่มใจขาดเช่นเพราะเหตุใดฤา เศรษฐีจึงตอบอย่างโมโหขึ้นเสียงว่า อ้าวทำไมถามอย่างนั้นละ นี่ลูกของข้าพเจ้าทั้งคนและมีคนเดียวเสียด้วย เทวดาจึงกล่าวต่อว่า ไม่รู้สิ เพราะตอนที่ลูกชายท่านมีชีวิตอยู่ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นท่านแสดงความรัก ไม่เคยให้ข้าวของที่มีราคาเหมาะสมกับตำแหน่งเศรษฐี เมื่อเขาเจ็บป่วยไม่สบายก็ไม่เคยเห็นท่านพยายามรักษาอย่างสุดความสามารถ ยิ่งเมื่อตอนใกล้ตายให้คนเอามาทิ้งนอกชานบ้านอีกต่างหาก ที่สุดแม้กระทั่งชื่อมัฏฐกุณฑลี ท่านก็รู้อยู่แก่ใจว่ามีที่มาที่ไปอย่างใด
เศรษฐีตกใจเพราะเรื่องเหล่านี้เฉพาะคนในครอบครัวเท่านั้นที่รู้ แต่ชายหนุ่มคนนี้เป็นใครหรือจะเป็นนักสืบ ที่สุดลูกชายจึงเล่าให้ฟังความเป็นไปทั้งหมดให้ฟัง เศรษฐีเมื่อทราบว่าลูกชายไปเกิดบนสวรรค์ก็ยิ่งสงสัยว่าจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะทานก็ไม่เคยให้ ใจก็ไม่เคยฝึกมา วาจาก็ไม่เคยได้เปล่งสวดมนต์ ไม่เคยทำการสักการบูชา ไม่เคยฟังธรรม ที่สุดอุโบสถศีลก็ไม่เคยรักษา เพียงเพราะทำจิตใจให้เลื่อมใสศรัทธาเท่านั้นก็ทำให้เกิดเป็นเทวดาได้ เศรษฐีจึงไปถามพระพุทธเจ้า พระองค์ตอบว่า ทำไมจะเป็นไปไม่ได้ละท่านเศรษฐี แน่นอนเพียงเพราะทำจิตให้เลื่อมใส จิตที่เต็มไปด้วยพลังศรัทธานี้จะเหมือนเงาติดตามไปทุกแห่งหนอย่างแน่แท้.
พระอาจารย์ปุณณสมบัติ ปภากโร / อาจารย์ที่ปรึกษา
พระมหาคมสัน ฐิตญาโณ
Please follow and like us: